อสังหาริมทรัพย์กับอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
5 พฤษภาคม 2551

ดร.โสภณ พรโชคชัย
sopon@thaiappraisal.org www.facebook.com/dr.sopon Line ID: dr.sopon

          ในช่วงสงครามอินโดจีน ประเทศไทยเกือบกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว พื้นที่หลายแห่งในหลายจังหวัดทุกภาคเคยเป็น “พื้นที่สีแดง” ในความควบคุมเบ็ดเสร็จของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่ภายหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล มีความขัดแย้งระหว่างประเทศสังคมนิยมกันเอง และพรรคฯ เองไม่สามารถสามัคคีประชาชนส่วนใหญ่ จึงทำให้การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธถูกยกเลิกไป อดีตพลพรรคฯ จึงวางอาวุธและกลับมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” กลายเป็นชาวบ้านธรรมดา และบัดนี้หลายคนก็กลายเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติไปแล้วก็มี

เยี่ยมอดีตฐานที่มั่น
          เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2551 ผมได้ไปร่วมงานเปิด “ศูนย์เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ ค่าย 514” ซึ่งจัดโดยกลุ่มเพื่อนมิตร 514 และกลุ่มเพื่อนสุราษฎร์ <3> ที่บ้านในปราบ ม.5 ต.บ้านเสด็จ อ.เคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในพิธี ค่ายดังกล่าวเคยเป็นฐานที่มั่นสำคัญของพรรคฯ ในภาคใต้ตอนบน ผู้จัดงานให้ข้อมูลว่างานนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 3,000 คน ประกอบด้วยผู้ที่เคยเกี่ยวข้องกับพรรคฯ นักการเมือง และผู้สนใจ เช่น ผมซึ่งเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ รุ่น 2519-2522 แต่ไม่เคยเข้าป่าไปอยู่กับพรรคฯ
          บรรยากาศในงานก็มีสาระและสนุกสนานดี ไม่มีความเครียดเรื่องการเมืองเพราะเป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมา เกือบ 30 ปีแล้ว ถือเป็นงานรวมญาติ-ฟื้นความหลังแห่งความภาคภูมิใจของผู้ที่เคยถูกรัฐบาลสมัยก่อนเรียกขานว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์” แต่ต่อมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” หลายคนบอกว่าไม่เคยคิดเลยว่าจะมีวันนี้ เพราะสมัยที่ต่อสู้กับรัฐบาลอยู่นั้น ตนเองยากจน ไม่มีสมบัติอะไร ในระหว่างสู้รบ หลายคนก็ล้มตายไป การที่ชีวิตมีโอกาสอยู่ถึงวันนี้จึงดีใจเป็นอย่างยิ่ง
          พอดีในช่วงบ่ายวันนั้น ผมได้คุยกับสุภาพสตรีพลพรรคฯ คนหนึ่ง ทำให้เกิดความสนใจศึกษาชีวิตของอดีตพลพรรคฯ ว่าอยู่กันอย่างไรในปัจจุบันโดยเฉพาะในแง่มุมของอสังหาริมทรัพย์ ผมจึงได้ออกแบบสอบถามสั้น ๆ ตอนนั้นเลยและได้เดินสัมภาษณ์อดีตพลพรรคฯ จำนวน 33 คน จนกระทั่งฝนตกหนักในช่วงเย็น ผมจึงเดินทางกลับและนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลทุติยภูมิ ผมเลือกถามเฉพาะบุคคลที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงในปัจจุบันและมีอาชีพเป็นเกษตรกร โดยไม่ได้สัมภาษณ์นักศึกษาที่เคยเข้าร่วมกับพรรคฯ ในระยะนั้น
          ผมเขียนบทความนี้เสร็จในวันที่ 6 พฤษภาคมและได้ส่งให้ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนได้แสดงความเห็นและนำมาประมวลและปรับปรุงใหม่เป็นฉบับปัจจุบันนี้ (12 พฤษภาคม)

ฉายภาพพลพรรคฯ
          อดีตพลพรรคฯ นั้นส่วนมากเป็นบุคคลในวัยกลางคนในขณะนี้ คืออายุเฉลี่ย 54 ปี แต่เกือบทั้งหมดอยู่ในช่วงอายุ 44-64 ปี และได้ทะยอยยกเลิกการต่อสู้ด้วยอาวุธตั้งแต่ช่วงปี 2521-2529 เป็นสำคัญ ช่วงที่ออกมาจากป่ายังหนุ่มแน่น อายุเฉลี่ยประมาณ 29 ปี แต่ในปัจจุบันมีครอบครัวแล้ว มีสมาชิกในครอบครัวรวม 4 คน (ตนเอง คู่ครองและบุตร) บางท่านก็ขยับสถานะเป็นรุ่นปู่ไปแล้ว
          สำหรับการถือครองที่ดินพบว่า ครอบครัวหนึ่งมีที่ดินเฉลี่ย 55 ไร่ แต่เกือบทั้งหมดมีที่ดินขนาด 27-83 ไร่ แรก ๆ บางคนอาจได้รับการจัดสรรที่ดินบ้าง แต่ส่วนมากซื้อหรือถากถางป่าเพิ่มเติมจนมีที่ดินมากขึ้น ที่ดินที่ถือครองก็เป็น สปก 4-01 แต่ส่วนมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งเป็นประเด็นความเดือดร้อนหนึ่งของชาวบ้าน <4> ที่ดินส่วนมากใช้ทำสวนยาง มีบางส่วนเป็นสวนปาล์ม และสวนผสมบ้าง
          จากการสำรวจพบว่า มีเพียง 4 จาก 33 ครอบครัวเท่านั้นที่ได้รับมรดกเป็นที่ดินมาจากบุพการี อดีตพลพรรคฯ ส่วนมากออกมามีชีวิตแบบปกติด้วยสองมือเปล่า และมาขวนขวายสร้างเนื้อสร้างตัวเองในภายหลัง บุคคลเหล่านี้ส่วนมากมีความขยันหมั่นเพียรกว่าบุคคลทั่วไป แต่ก็มีบางคนที่พอได้รับที่ดินจากการจัดสรรให้ในช่วงแรก ก็ขายสิทธิไปก็มี แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อย

รายได้ของครอบครัว
          แหล่งรายได้ของครอบครัวประกอบด้วย
          1. รายได้จากการทำสวนยาง ไร่หนึ่งกรีดได้วันละ 200 บาท เดือนหนึ่งกรีดได้อย่างต่ำ 20 วัน ปีหนึ่งกรีดได้ประมาณ 8 เดือนจาก 12 เดือน และยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกประมาณ 40% ในกรณีที่ให้คนอื่นรับจ้างกรีดให้ ดังนั้นหากมีสวนยางที่กรีดได้แล้วขนาด 20 ไร่ ก็จะมีรายได้เท่ากับ 200 บาท x 20 ไร่ x 20 วัน x (8/12 เดือน) x (1-40% ของค่าใช้จ่าย) เป็นเงิน 32,000 บาทต่อเดือน
          2. รายได้จากการทำสวนปาล์ม เดือนหนึ่งตัดได้ 2 ครั้ง ๆ ละ 2,000 บาท/ไร่ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30% ดังนั้นถ้ามีที่ดิน 10 ไร่ ก็จะได้เงินเท่ากับ 2,000 บาท x 2 ครั้ง x 10 ไร่ x (1-30% ของค่าใช้จ่าย) เป็นเงิน 28,000 บาท <5>
          3. รายได้จากสวนผสมนั้น อาจไม่มีมาตรฐานที่แน่ชัด แล้วแต่ประเภทของไม้ผล จึงอนุมานไว้เพียงไร่ละ 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น
          เมื่อนำข้อมูลพื้นที่เกษตรมาวิเคราะห์ จะพบว่าได้รายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวเป็นเงิน 75,762 บาทต่อเดือน รายได้ดังกล่าวนี้ถือเป็นรายได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายในการประกอบการเกษตรแล้ว และเป็นรายได้ของเจ้าของพื้นที่เกษตรเท่านั้น สำหรับเกษตรกรรับจ้างผู้ไม่มีสวนของตนเอง จะมีรายได้จากการรับจ้างกรีดยางหรือรับจ้างทำการเกษตร ในกรณีสวนยาง การแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของสวนกับผู้รับจ้างจะเป็นสัดส่วน 60:40 แต่ในกรณีสวนปาล์มอาจคิดค่าใช้จ่ายเป็นตัน เช่น ตันละ 500 บาท
          ในที่นี้อนุมานว่า เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองมีรายได้เพียง 20% ของเจ้าของสวน หรือมีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละ 15,152 บาทต่อเดือน จากการประมาณการของชาวบ้าน คาดว่าครอบครัวเจ้าของสวนกับครอบครัวเกษตรกรรับจ้างน่าจะมีสัดส่วน 1:2 ดังนั้นรายได้เฉลี่ยต่อครอบครัวจึงเป็นเดือนละ 35,355 บาท หรือมีรายได้ต่อหัว 111,117 บาทต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับที่ทางอำเภอเคียนซาได้เคยสำรวจไว้ว่ารายได้ต่อหัวของตำบลบ้านเสด็จเป็นเงิน 89,851 บาทต่อปี <6>
          รายได้ต่อครอบครัวของเกษตรกรที่สำรวจ ณ  35,355 บาทต่อเดือนนี้ สูงเกือบเท่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวในเขตกรุงเทพมหานครและ 3 จังหวัดโดยรอบที่ 36,096 บาทต่อเดือน <7> สำหรับชาวบ้านที่ครอบครองที่ดินทำสวนซึ่งมีรายได้สูงกว่านี้ บางท่านบอกว่า ตนได้เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศหรือเดินทางไปร่วมการจัดงานทำนองนี้ในพื้นที่อื่นทั่วประเทศมาแล้ว

การครอบครองอสังหาริมทรัพย์
          จากการสำรวจพบว่า ครอบครัวพลพรรคฯ มีทรัพย์สินเฉพาะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดินเกษตรกรรมเป็นเงินครอบครัวละประมาณ 6.1 ล้านบาทหรืออยู่ระหว่างช่วง 2.5-9.7 ล้านบาท ซึ่งยังสูงกว่าราคาบ้านเฉลี่ยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ราคา 3.1 ล้านบาท <8> แสดงว่าชาวบ้านเหล่านี้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเสียอีก
          สำหรับวิธีการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินนี้ คำนวณโดยประมาณการว่าสวนยางที่สามารถกรีดยางได้แล้ว ในช่วงอายุ 7-27 ปี มีราคาไร่ละ 150,000 บาท สวนปาล์มที่ตัดได้แล้วมีราคาไร่ละ 100,000 บาท สวนยางที่มีอายุไม่ถึงเกณฑ์กรีด สวนผสมและที่ดินเปล่า กำหนดราคาเฉลี่ยให้ไร่ละเพียง 20,000 บาท ส่วนพื้นที่ที่มีต้นยางที่เกินอายุแล้ว มีราคาเท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิของไม้ที่สามารถขายได้ไร่ละ 80,000 บาท ในอีก 10 ปีข้างหน้า สำหรับที่ดินที่มีต้นปาล์ม ในปัจจุบันก็ขายได้แล้วเช่นกัน แต่ในที่นี้ยังไม่คิดราคาให้ไว้
          อย่างไรก็ตามที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองนั้นส่วนมากไม่มีเอกสารสิทธิ์ โดยข้อมูลของทางอำเภอเคียนซาระบุว่า ในอำเภอมีที่ดินเป็น น.ส.3 และ น.ส.3 ก เพียง 5,880 ไร่ นอกนั้นอีก 343,739 ไร่ ไม่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ในที่ราชพัสดุ <9> ทำให้มูลค่าที่ดินที่ชาวบ้านครอบครองนั้นไม่มีมูลค่าสูงจริงตามที่คำนวณไว้เนื่องจากไม่สามารถซื้อขายได้ตามราคาท้องตลาดเช่นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้องทั่วไป

พัฒนาการของคน
          กรณีศึกษาการพัฒนาฐานะทางเศรษฐกิจของพลพรรคฯ ในวันนี้นั้น แม้แต่ครอบครัวพลพรรคฯ เองก็ไม่คิดว่าจะมีโอกาสมาถึงวันนี้ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากการนำเอาที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุมาทำประโยชน์ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การพัฒนาของปัจเจกบุคคล
          อย่างไรก็ตาม ในอนาคตปัญหาเอกสารสิทธิอาจลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากการปลูกพืชเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการบุกรุกป่าไม้เพื่อทำการเกษตรกรรมของชาวบ้านที่ปรากฏอยู่ทั่วไป อันเป็นการทำลายป่าไม้และสิ่งแวดล้อม และถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยนำสมบัติสาธารณะไปครอบครองเป็นของส่วนบุคคล
          การที่พลพรรคฯ ที่แทบไม่มีอะไรติดตัวมาเลยหลังจากยกเลิกการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ สามารถพัฒนาตนเองจนประกอบกิจการการเกษตรเป็นของตนเองและมีรายได้และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี เป็นเพราะบุคคลเหล่านี้มีความเพียรอย่างแรงกล้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การขยับขยายฐานะความเป็นอยู่นั้น เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ซึ่งแตกต่างจากการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมกลุ่มรวมหมู่
          หากมองในภาพรวม ประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น กล่าวคือประชาชนได้รับการยกระดับฐานะความเป็นอยู่ จากการศึกษาพบว่าประชากรไทยที่มีฐานะยากจนมีเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ <10> ประชาชนที่ขาดปัจจัยสี่เป็นชนกลุ่มน้อยที่แทบไม่มีเสียงในสังคม ทำให้ความสงบเกิดขึ้น ยิ่งบุคคลที่เคยเป็นพลพรรคฯ ซึ่งมักเป็นผู้มีความกระตือรือร้นสูง ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากกว่าบุคคลทั่วไป บุคคลเหล่านี้ในปัจจุบันยังมีฐานะทางสังคม และบ้างก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่น ในทางทฤษฎี ฐานะทางชนชั้นของครอบครัวพลพรรคฯ เหล่านี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เกษตรกรผู้ยากไร้ แต่เป็น “นายทุนน้อย” ตามศัพท์ของทางพรรคฯ หรือ SME Entrepreneurs ในยุคปัจจุบัน

บทสรุป
          โดยสรุปแล้ว “คอมมิวนิสต์” เกิดจากเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ในสังคม ดังนั้นพอมีนโยบาย 66/2523 <11> ที่ระบุว่าจะ “ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างเฉียบขาด ทำลายการกดขี่ขูดรีดทิ้งสิ้น สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” ประกอบกับเกิดวิกฤติศรัทธาในพลพรรคฯ <12> ตามคำสัมภาษณ์ของนายธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคฯ การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธจึงยุติ
          “คอมมิวนิสต์” จะไม่เกิดขึ้นเลยหากประชาชนไม่ถูกกดขี่ขูดรีดกระทั่งยากจน ผมถามอดีตพลพรรคคอมมิวนิสต์ที่ไปร่วมงานรำลึกความหลังว่า ถ้ามีโอกาสก่อตั้งพรรคใหม่อีก จะเอาไหม ก็ไม่พบใครคิดจะฟื้นพรรคอีก ดังนั้น “คอมมิวนิสต์” จึงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว น่าขยะแขยงที่จะเขย่าความมั่นคงทางการเมืองตราบเท่าที่ประเทศมีความมั่นคงและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
          โดยนัยนี้ “คอมมิวนิสต์” จึงไม่ใช่ภัยคุกคามใด ๆ แต่เป็นพลังสร้างสรรค์ที่เกิดจากอุดมการณ์ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในอดีต ดังนั้นในยุคนี้ ใครที่เอาคำนี้มาอ้างว่าเป็นภัยความมั่นคง ย่อมเป็นการกระทำที่มีวาระซ้อนเร้นเพื่อใช้คำนี้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และใช้ปลุกให้ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจและแตกแยกกันมากกว่า
          เราต้องสามัคคีประชาชนทุกหมู่เหล่าเพื่อพัฒนาชาติ อย่าให้ใครมาสร้างความแตกแยก

อ้างอิง
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ที่ทำวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับชุมชนแออัด โดยเป็นคนแรกที่ค้นพบชุมชนแออัดถึง 1,020 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสำรวจชุมชนแออัดในภูมิภาคทั่วประเทศ เคยได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติหลายหน่วยงานให้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและชุมชนแออัด เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็น ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/

<3> โปรดดูรายละเอียดงานได้ที่ http://www.domefamily.com/forum/viewtopic.php?t=637
<4> โปรดดูรายละเอียดในบรรยายสรุปอำเภอเคียนซา 12 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ http://www3.suratthani.go.th/home/index.php?option=com_weblinks&task=view&catid=53&id=220
<5> รายได้จากการทำสวนยางยังอาจคิดจากค่าเฉลี่ยในภาคใต้ เช่น ไร่ละ 474 กิโลกรัมต่อปี คูณด้วยราคาต่อกิโลกรัมและคูณด้วยจำนวนไร่ ส่วนรายได้จากการทำสวนปาล์มคิดจากผลผลิตฐานที่ 7,000-8,000 กิโลกรัมต่อไร่ และมีค่าใช้จ่ายในการตัดตันละ 500 บาท โดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายทั้งหมดของสวนปาล์มจะเป็นเงินประมาณ 4,000 บาท/ไร่/ปี (รวมค่าปุ๋ยและค่าดูแล) ในกรณีใส่ปุ๋ยเป็นพิเศษ สวนปาล์มอาจตัดได้มากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน
<6> ดูบรรยายสรุปอำเภอเคียนซา ตาม <4> หน้า 5
<7> สรุปผลเบื้องต้นการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/service/survey/socio_6m50.pdf
<8> จากการสำรวจของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยพบว่า มูลค่าที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นเงิน 10,539,566,333,693 บาท จากจำนวนหน่วยทั้งหมด 3,397,719 เฉลี่ยหน่วยละ 3.1 ล้านบาท โปรดดู: http://www.thaiappraisal.org/pdfNew/Research/research_2007-05-215-land.pdf
<9> ดูบรรยายสรุปอำเภอเคียนซา ตาม <4> หน้า 5 เช่นกัน
<10> โปรดดูรายละเอียดผลการศึกษานี้ได้ที่ บทความของ ดร.โสภณ พรโชคชัย คนจนในไทยมีเพียง 10% ที่ http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market180.htm
<11> ไม่สามารถหาเว็บที่เป็นทางการได้ มีเพียงเว็บที่คัดลอก http://www.geocities.com/thaidemocratic/pm6623.htm
<12> โปรดดู http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=78&page=4