โต้ฝรั่ง, ข่าว “ประเทศไทยไร้ความสงบสุข”
(พฤษภาคม 2551)

ดร.โสภณ พรโชคชัย
sopon@thaiappraisal.org www.facebook.com/dr.sopon Line ID: dr.sopon

          เมื่อเช้าวันนี้ ผมได้ทำหนังสือไปตอบโต้ฝรั่ง องค์กรชื่อ Vision of Humanity ผู้จัดทำดัชนีความสงบสุขของโลก (Global Peace Index หรือ GPI) เรื่องที่หน่วยงานแห่งนี้จัดอันดับประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 118 จาก 140 ประเทศในด้านความสงบสุข หรืออีกนัยหนึ่งแสดงว่ามีความสงบน้อยมาก ผมเห็นว่าการจัดอันดับนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และทำให้นานาชาติมองภาพพจน์ของไทยเสียหาย จึงทำหนังสือไปตอบโต้โดยส่งทางโทรสาร เว็บไซต์ของเขา (www.visionofhumanity.org) เกิดระบบผิดพลาด ไม่รับข้อความใด

การจัดอันดับที่น่าเคลือบแฝง
          ตามรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ <3> ปรากฏว่า “ไทยติดอันดับรองบ๊วยของอาเซียน สูงกว่าแค่พม่า เผยภาพลักษณ์เสียด้านอาชญากรรม,พลเมืองต่างชาติไม่เชื่อมั่นความสงบสุขภายในประเทศ แนวโน้มเจอก่อการร้าย-การชุมนุมที่บานปลายสู่ความรุนแรง . . . ไอซ์แลนด์ คว้าแชมป์เป็นประเทศที่มีความสงบสุขที่สุดของโลก”
          “. . . ขณะที่ประเทศที่รั้งอันดับประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดของโลก ได้แก่ อิรัก โซมาเลีย ซูดาน อัฟกานิสถาน อิสราเอล ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง เกาหลีเหนือ เลบานอน รัสเซีย . . . สำหรับไทย . . . จัดอยู่ที่อันดับ 118 โดยมีอันดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ (29) เวียดนาม (37) มาเลเซีย (38) ลาว (51) อินโดนีเซีย (68) กัมพูชา(91) โดยเหนือกว่าประเทศเดียวคือพม่า (126)”
          นอกจากนี้ประเทศที่มีอันดับดีกว่าไทยอย่าง “ขัดสายตา” ได้แก่ บอทสวานา โมซัมบิก กาบอง รวันดา เซอร์เบีย ทรินิแดด อิหร่าน อังโกลา ยูกันดา ซึ่งหลายประเทศอยู่ในภาวะแร้นแค้นในอาฟริกาหรือเพิ่งเคยมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างน่าสะเทือนขวัญ

ขัดหลักวิชาสถิติ
          ผมได้นำคะแนน GPI มาวิเคราะห์ร่วมกับตัวแปรต่าง ๆ ที่เขานำมาใช้ประกอบด้วยการวิเคราะห์ถดถอย (Regression Analysis) <4> กลับพบว่า คะแนน GPI ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับตัวแปรเหล่านั้นเลย ค่าประสิทธิภาพการทำนาย (R square) ต่ำมาก (ค่านี้ควรมากกว่า 60% ขึ้นไป หรือยิ่งใกล้ 100% ยิ่งดี)
- ดัชนีการพัฒนาชีวิตมนุษย์ (R sq = 33.85%)
- จำนวนทหารที่คิดเป็นร้อยละของประชากร (R sq = 0.97%)
- ค่าใช้จ่ายทางทหารที่คิดเป็นร้อยละของ GDP (R sq = 5.33%)
- จำนวนเงินการลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละของ GDP (R sq = 0.09%)
- อัตราเงินเฟ้อ (R sq = 16.83%)
- มูลค่า GDP ต่อหัว (R sq = 38.93%)
- ร้อยละของประชากรที่ยากจน (R sq = 17.70%)
- การแพร่กระจายของโรคเอดส์ต่อร้อยละของประชากร 15-49 ปี (R sq = 3.57%)
- อายุขัยของประชากร (R sq = 27.08%)
- อัตราการฆ่าตัวตาย (R sq = 7.80%)
- อัตราส่วนของผู้ติดคุกต่อประชากรโดยรวม (R sq = 0.08%)
- อัตราการฆาตกรรม (R sq = 19.61%)
- การถือครองสิทธิในทรัพย์สิน (R sq = 36.63%)
- ความเท่าเทียมระหว่างความเป็นชายและหญิง (R sq = 2.58%)
- ดัชนีการโกงกินในแต่ละประเทศ (R sq = 50.07%)
          แผนภูมิที่แสดงไว้ในจดหมายภาษาอังกฤษในภาคผนวกถึงองค์กรฝรั่งแห่งนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าดัชนี GPI ไม่ได้สัมพันธ์กับตัวแปรต่าง ๆ เลย ยกตัวอย่างต่อไปนี้

          ตามแผนภูมิที่ปรากฏข้างต้น วงกลมวงใหญ่คือประเทศไทย ส่วนจุดสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ คือประเทศอื่น ในแผนภูมินี้ไทยได้ดัชนีการพัฒนาชีวิตมนุษย์ของ UNDP อยู่ในระดับสูงถึง 0.781 ซึ่งถือว่าดี แต่ได้คะแนน GPI 2.424 โดย 4 แปลว่าขาดความสงบสุข การกระจายตัวของตัวแปรทั้งสอง เห็นได้ชัดเจนว่า ไม่มีความสัมพันธ์กันเลย

การทดลองทำดัชนีใหม่
          ผู้เขียนได้ทดลองทำดัชนีใหม่โดยอาศัยตัวแปรคล้ายกับที่ GPI ใช้ ทั้งนี้ได้วัดค่าเฉลี่ยของตัวแปร เช่น ดัชนี GPI เฉลี่ยคือ 2.02 และถือค่าเฉลี่ยนี้เท่ากับ 2 ในการวัดเกรด ส่วนของประเทศไทยได้ 2.42 และโดยที่ 4 เป็นคะแนนที่แย่ที่สุด ดังนั้นเมื่อคิดกลับ ไทยจะได้เกรดเพียง 1.66 ตามดัชนี GPI (2 x 2.02 / 2.42)
          จากตัวแปรต่าง ๆ ที่นำมาใช้พบว่า ในบางดัชนี ไทยก็อาจตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แต่บางดัชนีก็ได้คะแนนดีกว่าค่าเฉลี่ย และเมื่อเฉลี่ยรวมทั้งหมดโดยไม่ได้ถ่วงน้ำหนัก เกรดเฉลี่ยของประเทศไทย จะเป็น 2.44 ถือว่าสอบผ่าน ดังนั้นจึงแสดงได้ชัดว่า ดัชนี GPI ที่ฝรั่งกลุ่มนี้คำนวณไว้ ไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริง

ควรทบทวนใหม่ที่ทำไทยเสียหาย
          ฝรั่งกลุ่มนี้อาจประเมินตามภาวะที่เป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวต่าง ๆ เช่น รัฐประหาร 2549 ซึ่งทำให้ไทยเสียภาพพจน์อย่างยิ่ง แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระยะสั้น หรือการเดินขบวนประท้วงในช่วงที่ผ่านมาที่กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย ก็คงเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะรับไม่ได้และจะสิ้นสุดในเวลาอันสั้น หรือการที่มีความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าทรัพย์สินไปถึง 52,178 ล้านในช่วงที่ผ่านมา <5>
          ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทยก็ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความโปร่งใสอันดับที่ 63 จาก 163 ประเทศ และเป็นประเทศที่มีชาวต่างประเทศมาท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 4 ในเอเซียแปซิฟิก รองจาก จีน สิงคโปร์และมาเลเซีย เท่านั้น ดังนั้นแม้ประเทศไทยจะมีความวุ่นวายทางการเมืองบ้างในช่วงนี้ แต่ก็ไม่อาจถือได้ว่าประเทศไทย แย่ขนาดประเทศที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือมีสงครามกลางเมือง
          อย่างไรก็ตาม คนที่ก่อความวุ่นวายให้บ้านเมืองเวลานี้ (ไม่ว่าฝ่ายไหน) ก็ควรรามือเสียบ้าง โปรดเคารพกติกาของบ้านเมือง และอย่าคิดผูกขาดความถูกต้องไว้คนเดียว โดยไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ โปรดจำไว้ว่าอริราชศัตรูภายนอก มันจ้องจะทำประเทศชาติเราให้เสียหายอยู่เรื่อย

หมายเหตุ:
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็น ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org

<3>

ไทยติดอันดับ118 รองบ๊วยอาเซียน เฉือนแค่พม่า ปท.ไร้ความสงบสุข ก่อการร้าย-อาชญากรรมสูง วันที่ 21 พฤษภาคม 2551 - เวลา 13:59:40 น. http://www.matichon.co.th/news_title.php?id=2091

<4>

คำอธิบายเกี่ยวกับ Regression Analysis ดูตัวอย่างได้ที่ http://www.kmitl.ac.th/~kbkittic/exdesign/regression.html

<5>

โปรดดูรายละเอียดผลการศึกษาของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/pdfNew/Research/research_2007-05-215-land.pdf


จดหมายโต้ฝรั่ง, ข่าว “ประเทศไทยไร้ความสงบสุข”